ระบบหมุนเวียนเลือดของมนุษย์ (ตอนที่ 2) : ชีพจรและความดันเลือด

ระบบหมุนเวียนเลือดของมนุษย์ (2) : ชีพจรและความดันเลือด

ชีพจร

ภาพที่ 4.1  การจับชีพจร
ที่มาภาพ : https://pantip.com/topic/33039354

         ชีพจร (Pulse หรือ Pulse rate หรือ Heart rate หรือ Heart beat)  คือ อัตราการเต้น
ของหัวใจ   โดยนับผ่านการเต้นของหลอดเลือดแดงในระยะเวลา 1 นาที  ทั้งนี้ตำแหน่งที่นิยมวัด
หรือจับชีพจร คือ ตำแหน่งด้านหน้าข้อมือส่วนที่ต่ำกว่าฐานของนิ้วหัวแม่มือ โดยการวางนิ้วชี้และ
นิ้วกลางลงบนตำแหน่งนั้น กดลงเบาๆ ก็จะรับรู้ได้ถึงการเต้นของหลอดเลือดแดง ทั้งนี้สามารถ
จับชีพจรได้ในตำแหน่งต่าง ๆ  ที่หลอดเลือดแดงขนาดกลางอยู่ติดกับผิวหนัง จึงสามารถคลำ
พบได้ง่าย (ปกติหลอดเลือดแดงจะอยู่ลึกคลำพบยาก หลอดเลือดส่วนใหญ่ที่มองเห็น
จะเป็นหลอดเลือดดำ)  เช่น ที่ขาพับด้านนิ้วหัวแม่เท้าที่ด้านในของขาหนีบ ที่ลำคอส่วนที่ติด
กับลูกกระเดือก เป็นต้น

ความดันเลือด

ภาพที่ 4.2 ความดันเลือด
ที่มาภาพ : http://m.laughinggif.com/gifs/f223mlrrkr

         ความดันเลือด หมายถึง แรงดันของเลือดในหลอดเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือด
ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจสามารถหดตัวและคลายตัวได้  การหดตัวของหัวใจ เรียกอีกอย่าง
หนึ่งว่า การบีบตัว และการบีบตัวของหัวใจนี้ทำให้เกิดความดันในหลอดเลือด ขณะที่หัวใจบีบตัว
จะดันเลือดออกไปสู่ส่วนต่าง ๆ  ของร่างกายตามหลอดเลือดอาร์เทอรี และขณะที่หัวใจคลายตัว
เลือดจะไหลกลับเข้าสู่หัวใจได้อีกทางหลอดเลือดเวน หลอดเลือดที่เหมาะสำหรับวัดความดันเลือด
คือ หลอดเลือดอาร์เทอรีที่ต้นแขน  เนื่องจากเป็นหลอดเลือดที่อยู่ใกล้หัวใจ ค่าที่ได้จะใกล้เคียงกับ
ความดันเลือดในหัวใจมากที่สุด

ภาพที่ 4.3 การวัดความดันเลือด
ที่มาภาพ : http://www.genzaacare.com/high-blood-pressure.html

          ในการวัดความดันเลือดแพทย์จึงวัดค่าความดันเป็นตัวเลข 2 ค่า  มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร
ของปรอท  เช่น 120/80 มิลลิเมตรของปรอท ตัวเลข 120 แสดงค่าความดันเลือดสูงสุดขณะที่
หัวใจบีบตัว  เรียกว่า ความดันซิสโทลิก (Systolic pressure)  ส่วนตัวเลข 80 แสดงค่าความดัน
เลือดต่ำสุด  ขณะที่หัวใจคลายตัว เรียกว่า ความดันไดแอสโทลิก (Diastolic pressure)  สำหรับ
เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการวัดความดันเลือด เรียกว่า มาตรวัดความดันเลือด(Sphygmomanometer)
และในการวัด  แพทย์จะใช้ควบคู่กับสเต็ทโทสโคป (Stethoscope)  โดยปกติค่าความดันเลือดจะอยู่
ที่  120/80  มิลลิเมตรของปรอท  ซึ่งค่าความดันเลือดสามารถเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับปัจจัย
ดังต่อไปนี้
          1.  อายุ เมื่ออายุมากขึ้นความดันเลือดก็จะสูงขึ้นด้วย เนื่องจากความยืดหยุ่นของผนัง
หลอดเลือดลดลง  ทำให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดแรงขึ้น
          2.  เพศ โดยทั่วไปเพศชายจะมีความดันเลือดสูงกว่าเพศหญิงที่มีอายุเท่าๆ กัน
          3.  ขนาดของร่างกาย คนอ้วนมักจะมีความดันเลือดสูงกว่าคนผอม เพราะหลอดเลือด
อยู่ลึกมีชั้นไขมันมาก
          4.  อารมณ์ ผู้ที่โกรธง่ายและผู้ที่มีจิตใจตกอยู่ในภาวะเครียดเป็นประจำจะมีความดันเลือด
สูง  เนื่องจากร่างกายจะสร้างสารชนิดหนึ่งออกมา ซึ่งมีผลต่อการบีบตัวของหัวใจและหลอดเลือด
          5.  อิริยาบถ ความดันเลือดขณะยืนจะสูงกว่าตอนนั่ง เพราะขณะยืนความดันเลือดที่บริเวณ
ขาจะสูงมากที่สุด  บริเวณศีรษะจะน้อยที่สุด เนื่องจากการไหลของเลือดจะไหลไปในทิศทางเดียว
กันกับแรงโน้มถ่วงของโลกได้ดีกว่าทิศทางตรงกันข้ามกับแรงโน้มถ่วงของโลก และความดันเลือด
ขณะนั่งจะสูง กว่าตอนนอนเพราะขณะที่นอนความดันเลือดทุกส่วนของร่างกายจะใกล้เคียงกัน                      6.  การออกกำลังกายและการทำงาน ขณะออกกำลังกายและทำงาน ร่างกายจะมีความดันเลือด
สูงกว่าบุคคลในภาวะปกติ

Untitled

รวบรวมจาก
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี.2554. หนังสือเรียนรายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานวิทยาศาสตร์ 4 . กรุงเทพฯ : องค์การค้าของ สกสค.
พิมพันธ์ เตชะคุปต์ และคณะ . 2560.ชุดกิจกรรมพัฒนาการคิด เสริมสร้างสมรรถนะสำคัญและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน. กรุงเทพฯ : สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชการ (พว)
http://haamor.com/th/    สืบค้นเมื่อ 19  พฤษภาคม 2560
http://www.scimath.org/article-biology/item/334-pulse  สืบค้นเมื่อ 19  พฤษภาคม 2560

ใส่ความเห็น